หน้าแรก สุขภาพร่างกาย อาการนิ้วล็อค เกิดจากอะไร วิธีแก้และรักษาโดยการบริหารนิ้วมือ

อาการนิ้วล็อค เกิดจากอะไร วิธีแก้และรักษาโดยการบริหารนิ้วมือ

อาการนิ้วล็อค

โรคนิ้วล็อค หรืออาการนิ้วล็อค เป็นอาการของกลุ่มคนที่ใช้นิ้วมือทำงานอย่างหนัก ยิ่งปัจจุบันเทคโนโลยีมีบทบาทกับการใช้ชีวิตมากขึ้น โดยเฉพาะสมาร์ทโฟน เรามักจะหยิบมาอัพเดทข่าวสาร แชทกับเพื่อน หรือเล่นเกมเป็นบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเข้าห้องน้ำ กินข้าว หรือก่อนนอน นอกจากนั้นการทำงานในยุคอุตสาหกรรมนี้ ผู้คนจะอยู่กับคอมพิวเตอร์เป็นหลัก จึงมักพบอาการนิ้วล็อคได้ อาการนิ้วล็อกนี้เกิดจากอะไร และมีวิธีป้องกันรักษาหรือแก้ไขอย่างไร วันนี้เรามาหาคำตอบไปพร้อมๆ กันนะคะ

สาเหตุของอาการนิ้วล็อคเกิดจากอะไร

สาเหตุเกิดจากการหิ้วของหนักบ่อยๆ หรือใช้นิ้วมือทำงานอย่างหนัก เช่น การหิ้วถุงจ่ายตลาดหรือช้อปปิ้ง การเกร็งนิ้วมือขณะพิมพ์งาน หรือการเล่นโทรศัพท์ติดต่อกันเป็นเวลานานจนทำให้เปลือกหุ้มเส้นเอ็นเกิดการอักเสบหรือบวมจนทำให้ขาดความยืดหยุ่น โดยปกติทั่วไปเส้นเอ็นข้อมือจะมีการเคลื่อนไหวอยู่เสมอในกรณีกำหรือแบมือก็จะทำได้อย่างสะดวก ไม่มีอาการเจ็บหรืองอแล้วเหยียดออกไปได้ เมื่อมีการอักเสบทำให้เส้นเอ็นบวมขาดความยืดหยุ่นและในเอ็นนิ้วมือของคนเรายังมีเส้นเอ็น 2 ชุดขนานกันหากหิ้วของหรืองอนิ้วเป็นเวลานานๆ และทำซ้ำๆ เป็นประจำเส้นเอ็นอาจติดกันได้ ทำให้เป็นสาเหตุของอาการนิ้วล็อค

วิธีป้องกันอาการนิ้วล็อค

  1. ในกรณีหิ้วถุงที่มีน้ำหนักมาก ควรปรับเปลี่ยนเป็นการแบก การสะพาย หรือใช้วิธีอุ้มช่วย เพื่อป้องกันไม่ให้นิ้วรับน้ำหนักของสิ่งของนั้นมากเกินไป
  2. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ต้องทำงานโดยใช้นิ้วมือในการบีบ ขยำเป็นเวลานานๆ
  3. ลดการใช้งานโทรศัพท์มือถือ และคอมพิวเตอร์บ้าง หากจำเป็นต้องใช้ควรพักนิ้วมือเป็นระยะๆ
  4. กรณีการเล่นกีฬาหรือทำงานที่ต้องหยิบจับสิ่งใดในลักษณะเดิมๆ เป็นเวลานาน เช่น การจับกรรไกรตัดแต่งกิ่งต้นไม้ การตีกอล์ฟ หรือใช้เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ควรใส่ถุงมือทุกครั้ง
  5. บริหารนิ้วมือเป็นประจำ เช่น บริหารนิ้วมือด้วยการบีบ หรือขยำลูกบอลที่นิ่มและขนาดพอดีมือ

วิธีแก้ไขสำหรับคนที่มีอาการนิ้วล็อค

  1. สำหรับคนที่มีอาการนิ้วล็อคที่ไม่รุนแรงมากนัก วิธีแก้ไขที่ได้ผลดีคือ การบำบัดหรือบริหารนิ้ว เช่น การตั้งมือขึ้น แล้วกำมือโดยเริ่มจากการงอปลายนิ้วลง บริหารซ้ำหลายๆ ครั้งหรือทำทุกครั้งที่มีเวลาว่าง หรือใช้วิธีการตั้งมือขึ้น แล้วพับนิ้วลงพร้อมกันในลักษณะเป็นมุมฉากทำกลับไปกลับมา 5-10 ครั้ง เพื่อให้เอ็นมีการเคลื่อนไหวไม่ติดกัน ในการบำบัดนิ้วล็อคด้วยการบริหาร กรณีคนที่มีอาการรุนแรงงอนิ้วแล้วไม่สามารถเหยียดนิ้วออกได้เอง สามารถใช้มือประคองดันนิ้วมือขึ้นลงได้
  1. วิธีสุดท้ายหากมีอาการที่รุนแรงบำบัดแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษา

โรคนิ้วล็อคหรืออาการนิ้วล็อก เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้แต่ถึงแม้จะรักษาให้หายขาดได้ แต่ก็เป็นโรคที่สร้างความทรมานให้กับผู้ป่วย การป้องกันและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาการนิ้วล็อคจึงเป็นสิ่งที่ควรทำมากกว่าการดูรักษา

อัพเดทความรู้รอบตัวใหม่ๆทาง Facebook คลิกเลย!!